More
    HomeTechnology5 เทคนิคเก็บรักษากล้องดิจิทัลและเลนส์อย่างไรให้อยู่กับเราไปนาน ๆ

    5 เทคนิคเก็บรักษากล้องดิจิทัลและเลนส์อย่างไรให้อยู่กับเราไปนาน ๆ

    การเก็บกล้องที่ถูกวิธีนอกการใช้งานอย่างระมัดระวังแล้ว มีอีกหลายสิ่งที่มือใหม่หลายคนอาจจะยังไม่รู้หรือกำลังศึกษาอยู่ ซึ่งการซื้อกล้องแต่ละตัวนั้น เชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะต้องผ่านการศึกษา อ่านรีวิวต่าง ๆ มาไม่น้อย กว่าที่แต่ละคนจะควักกระเป๋าจ่ายเงินไปหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท โดยเฉพาะยุคนี้แม้ว่ากล้องที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือจะมีตวามสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณภาพก็ยังสู้กล้องดิจิทัลยังไม่ได้ เพราะด้วยขนาดของเลนส์ของกล้องที่ใหญ่กว่า บวกกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่บรรดาผู้ผลิตเจ้าใหญ่ ๆ ในตลาด ไม่ว่าจะเป็น Canon, Sony, Nikon, FUJIFILM, Panasonic ต่างพัฒนาเทคโนโลยีและออกรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิมมาทุกปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กล้องที่เราซื้อจะอยู่กับเราได้นานหรือไม่ ก็ต้องดูที่การใช้งานและการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กล้องของเราได้ครับ

    5 เทคนิคเก็บรักษากล้องดิจิทัลและเลนส์อย่างไรให้อยู่กับเราไปนาน ๆ

    1. ใช้ฟิลเตอร์กันเลนส์

    เมื่อเราถอยกล้องใหม่ออกมา สิ่งที่อยากจะแนะนำให้ซื้อมาด้วยคู่กันก็คือเรื่องของฟิลเตอร์กันเลนส์ เพราะมันจะช่วยป้องกันกระจกของเลนส์เวลาเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานได้ดีกว่าการไม่ใส่อะไรเลย เพราะกระจกหน้าเลนส์นั้นหากเป็นรอยก็จะทำให้คุณภาพของภาพถ่ายนั้นแย่ลงได้ ดังนั้นเราจึงต้องรักษาหน้าเลนส์ให้่ใสสะอาด ปราศจากฝุ่นและไขมันเกาะที่หน้าเลนส์ แต่เพื่อที่จะช่วยรักษาหน้าเลนส์จริง จึงต้องมีการใช้ฟิลเตอร์ ซึ่งก็เป็นแผ่นกระจกที่จะเอามาปิดหน้าเลนส์จริงของเราอีกชั้นหนึ่ง หากโดนกระแทก หรือ มีฝุ่นทรายเราเผลอเช็ดเป็นรอยก็ยังสามารถเอาไปเปลี่ยนตัวใหม่ได้ในราคาที่ไม่แพง

    สำหรับตัวฟิลเตอร์กันเลนส์ในปัจจุบันมีหลายแบรนด์มาก ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน แต่หลักการคิดง่าย ๆ คือราคาของฟิลเตอร์ กันเลนส์ที่เราใช้ไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซนต์ของราคาเลนส์ที่เราซื้อ แต่ข้อนี้เราไม่ควรซื้อของที่มีราคาถูกเกินไปและควรเลือกซื้อยี่ห้อและรุ่นที่เหมาะสมกับเลนส์ของเรา เพราะหากเราซื้อเลนส์คุณภาพสูงราคาแพงมา แต่มาติดฟิลเตอร์ที่ได้คุณภาพไม่ถึง ก็เหมือนเอาอะไรมาปิดหน้าเลนส์ทำให้คุณภาพของภาพที่ได้แย่ลงได้เช่นกัน เช่น เกิดแสดงแฟร์เวลาถ่ายคิดแสงไฟ, ภาพแสงสีดรอปลง, ภาพที่ได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพี้ยน เป็นต้น สำหรับยี่ห้อที่นิยมในตลาดในปัจจุบันมีหลายตัว เช่น B+W, Hoya, NiSi, Kenko เป็นต้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณ คุณภาพและความชอบของเราด้วยครับ อ่านรีวิว ดูรีวิวเยอะ ๆ แล้วค่อยตัดสินใจเลือกนะครับ

    2. ทำความสะอาดกล้องและอุปกรณ์ก่อนเก็บเสมอ

    หลังจากที่คุณพากล้องออกไปทำงานอย่างสมบุกสมบันมาทั้งวันแล้ว การตรวจเช็คสภาพก่อนเก็บนั้นสำคัญไม่น้อย ควรทำความสะอาดด้วยการใช้แปรงขนอ่อนสำหรับกล้อง ปัดเศษฝุ่นต่าง ๆ ออกให้หมด หากตรงไหนมีคราบไขมัน คราบอาหาร น้ำหวาน รอยนิ้วมือควรใช้ผ้าสำหรับเช็คกล้องหรือผ้าไมโครไฟเบอร์สำหรับเช็ดเลนส์ออกให้หมด โดยใช้ผ้าแห้ง หากไม่ได้สกปรกอะไรมากไม่ควรนำผ้าชุบน้ำมาเช็ดบ่อย ๆ นะครับ ดูรอบ ๆ ให้สะอาดไม่มีเศษอาหารจะช่วยกันมด กันแมลงเข้ามาได้ จากนั้นดูว่ามีเปื้อนความชื้น น้ำ หรืออะไรหรือไม่ หากมีควรปล่อยให้แห้งก่อนเก็บเข้ากล่องหรือเข้าตู้เก็บกล้องหรือตู้กันชื้น

    photographer-men

    3. ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม

    เรื่องกล้องกับความชื้นเหมือนจะเป็นของคู่กัน เพราะกล้องนั้นไม่ชอบความชื้นที่มากหรือน้อยเกินไป เพราะศัตรูตัวฉกาจของกล้องคือ เชื้อรา ที่ชอบมากัดกินเลนส์กล้องหากมีความชื้อมาก หรือไม่ได้ใช้กล้องนาน ๆ วางไว้นิ่ง ๆ แบบนี้เชื้อราชอบครับ แต่หากว่าความชื้นน้อยเกินไปก็ไม่ดีอีกนะครับเพราะจะทำให้พวกยางหรือสารหล่อลื่นในกลไกต่าง ๆ ในกล้องนั้นเสื่อมเร็วกว่าปกติได้ ดังนั้นการตั้งค่าความชื้อที่เหมาะสมคือ 45-55% ครับ

    1) กล่องเก็บกล้อง

    การใช้กล่องสุญญากาศ เช่น กล่องยี่ห้อ Super Lock ก็เป็นที่นิยม เพราะมีขายกล่องสำหรับใช้ในการเก็บกล้องโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะมีแถมแผ่นฟองน้ำรองและกันชื้นมาให้ด้วย ซึ่งหลังจากที่เราทำความสะอาดกล้องหลังการใช้งานแล้ว ก็เก็บเอาไว้ในกล่องพร้อมกับกันชื้นปิดฝาให้สนิทได้เลย ใครที่สะดวกใช้วิธีนี้ แนะนำเทคนิคเพื่อความแน่นอนของความชื้น เราอาจจะหาซื้อตัววัดความชื้นในอากาศมาใส่เข้าไปด้วยเพื่อดูว่าค่าความชื้นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ปกติราคาไม่แพงหาซื้อออนไลน์ได้ ประมาณ 40 บาทก็ซื้อได้อันนึงแล้วครับ หากความชื้นน้อยไปเราก็เอาซิลิกาเจลออก หากมากไปก็เอาซิลิกาเจลเข้าไปดูดความชื้น ใส่ทิ้งไว้ในกล่องปิดฝาได้เลย

    2) ตู้เก็บกล้องหรือตู้กันชื้น

    ตู้เก็บกล้องจำเป็นหรือไม่อยู่ที่ว่าเราใช้กล้องบ่อยหรือไม่ หากเราหยิบกล้องหยิบเลนส์มาใช้เป็นประจำก็อาจจะไม่จำเป็นมากนัก แต่หากว่านาน ๆ เราหยิบมาใช้ที หรือที่ที่เราเก็บกล้องมีความชื้นสูง บ้านริมแม่น้ำ หรือวัดแล้วค่าความชื้นเกิน 60 แนะนำว่าควรจะมีเอาไว้ โดยราคาขายตอนนี้ประมาณพันต้น ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว ขึ้นอยู่กับขนาดที่เราเลือกซื้อ หากตู้ใหญ่ราคาก็จะแพงขึ้น และขึ้นกับแต่ละแบรนด์ด้วย แต่หากเราเป็นคนรักและหวงกล้องมาก ๆ แนะนำให้ซื้อไว้ เพราะเทียบกับราคากล้องหลายหมื่นนั้นถือว่าไม่แพงครับ

    สำหรับตู้เก็บกล้องหรือตู้กันชื้นนั้นหลัก ๆ มี 2 แบบ คือแบบ Manual และแบบ Auto โดยแบบ Manual นั้นราคาจะถูกกว่า เพราะว่าการปรับอุณหภูมินั้นเราจะต้องหมุนปรับเอง แต่แบบอัตโนมัตินั้นเราสามารถตั้งค่าความชื้นที่ต้องการเอาไว้ได้เลย ตัวเครื่องจะคุมความชื้นให้เราให้อยู่ในจุดของค่าที่เราตั้งไว้โดยอัตโนมัติ และอีกข้อที่สำคัญคือเรื่องของการทำงานของเจ้าเครื่องนี้ที่ต้องสอบถามทางผู้ขายนิดนึงว่าประกันกี่ปี (ปกติ 2-5 ปี) และการทำงานของเครื่องเสียงดังมากหรือไม่ เพราะบางคนอาจจะชอบเครื่องเงียบ ๆ เพราะอาจจะตั้งเครื่องไว้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น เป็นต้น ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของดีไซน์ที่อยู่ที่ว่าเราชอบแบบไหน สำหรับใครที่เลือกจะใช้ตู้เก็บกล้องหรือตู้กันชื้นแล้วก็ไม่ต้องซื้อซิลิก้าเจลที่เอาไว้ดูดความชื้นใส่เข้าไปแล้วนะครับ ใช้ตู้ควบคุมแล้วก็เพียงพอ ส่วนขนาดก็มีหลายขนาด เช่น 20, 30, 50, 100 ลิตร เป็นต้น

    แต่หากว่าไม่สะดวกจะเก็บไว้ทั้งในกล้องหรือตู้กันชื้อ ก็สามารถเก็บกล้องไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกได้เช่นกันครับ แต่ก็อาจจะต้องเข้าใจว่าเมืองไทยเรานั้นร้อนชื้น มี 3 ฤดู ความชื้นฤดูฝนมากเป็นพิเศษ ส่วนฤดูหนาวก็น้อยเป็นพิเศษ เป็นต้น ทำให้การเก็บใน 2 ข้อบนน่าจะดีกว่าการปล่อยไว้ตามธรรมชาติหรือใส่ไว้ในกระเป่ากล้องตลอดเวลานะครับ

    ค่าเปอร์เซนต์ความชื้นที่เหมาะสำหรับอุปกรณ์และวัตถุประเภทต่าง ๆ

    55% – 60% เหมาะสำหรับเก็บ รูปภาพ ภาพเขียน แสตป์ โฉนด ธนบัตร เอกสาร เก็บเพื่อไม่ให้อุปกรณ์ข้างต้นไม่เหลือง แห้งกรอบ ตัวหนังสือ,รูป ยังคงมีสภาพใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด
    45% – 55% เหมาะสำหรับเก็บ กล้องถ่ายภาพ เลนส์ แฟลช กริป แผ่นเก็บข้อมูล ฟิล์ม วีดีโอ แผ่นซีดี
    35% – 45% เหมาะสำหรับเก็บเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ สารเคมี วัสดุสิ่งทอ
    25% – 35% เหมาะสำหรับเก็บ สารเคมีที่ใช้ในงานวิเคราะห์พันธ์ไม้วิจัย เมล็ดพันธุ์พืช ดอกไม้ ใบชา ยาสูบ

    4. หยิบกล้องมาใช้งานเป็นประจำ

    อย่างที่บอกว่าภายในกล้องนั้นมีกลไกต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดใน 1 เดือน ควรจะหยิบกล้องมาปิด-เปิด หรือถ่ายภาพบ้างนะครับ หากไม่ได้ใช้นาน ๆ ก็ควรถอดแบตเตอรี่ออกจากตัวเครื่อง หรือเอาแบตเตอรี่ไปชาร์จบ้าง การทิ้งกล้องหรือเลนส์ไว้นิ่งนาน ๆ เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราขึ้นที่กระจกเลนส์ และหากขึ้นมาแล้วต้องเอาไปล้าง เสียเงิน เสียเวลา และถ้าหนักหน่อยรากินผิวกระจกหน้าเลนส์ล้างไม่ออกอีกต่างหาก

    5. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์เสริมที่มีคุณภาพ

    การเลือกใช้ของที่มีคุณภาพ บางครั้งอาจจะมีราคาที่แพงขึ้นมาหน่อย แต่เคยได้ยินมั้ยครับคำว่า “เจ็บแต่จบ” ใช่แล้วครับ ราคาอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ตอนนี้มีขายใน Shopee, Lazada, Aliexpress มากมายหลายราคา ตั้งแต่ถูกไปจนถึงแพง มีทั้งของปลอมและของแท้ ซึ่งการเช็คราคาสินค้าและความสมเหตุสมผล บวกกับการประเมินเรื่องของคุณภาพต่าง ๆ จากการรีวิวเป็นสิ้่งที่จำเป็นต้องทำก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น การซื้อขาตั้งกล้อง หากใช้ของที่เน้นราคาถูกมาก ได้คุณภาพไม่ดี เอามาใช้งานไม่ได้ก็ทำให้ต้องเสียเงินซื้อใหม่ ไป ๆ มา ๆ เสียแพงกว่าของที่มียี่ห้อ แต่หากยอมจ่ายแต่แรกก็จบ เป็นต้น แต่ก็ใช่ว่าของถูกจะไม่ดีเสมอไป เพราะของบางอย่างราคามิตรภาพแต่คุณภาพคับแก้วก็มี ส่วนนี้แนะนำว่าขึ้นกับประเภทของสินค้า เช่น กรณีของฟิลเตอร์เลนส์ที่เราจะมาติดเสริมแนะนำว่าใช้ของที่มียี่ห้อ รีวิวที่ดีก็จะช่วยให้มั่นใจในคุณภาพได้มากกว่าของที่ราคาถูก และไม่มียี่ห้อ พยายามอ่านรีวิวต่าง ๆ ให้เยอะมากพอ แล้วเราจะได้คำตอบที่สอดคล้องกับงบประมาณที่เรามีครับ

    กองบรรณาธิการ
    กองบรรณาธิการhttps://www.digitday.com/
    DIGITDAY.COM = Digital + Day | ในยุคดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุก ๆ วินาที การเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีและเลือกใช้อย่างเท่าทัน จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว

    LEAVE A REPLY

    Please enter your comment!
    Please enter your name here

    Follow Us

    30,938FansLike
    98FollowersFollow
    180FollowersFollow
    1,027FollowersFollow
    80SubscribersSubscribe

    Must Read